รู้จัก 7 นวัตกรรม Wi-Fi ที่นำ RUCKUS มุ่งสู่การเป็น Leader, Top Innovator และ Top Implementor ด้าน Campus Wireless LAN Networking จากการสำรวจของ ABI Research
- Montri Yotphet
- Mar 1, 2024
- 2 min read
หลังจากที่ ABI Research ได้เผยแพร่รายงาน ABI RESEARCH COMPETITIVE RANKING – WLAN FOR CAMPUS AREA NETWORKS ออกมา ทาง RUCKUS ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยี Wireless LAN สำหรับการใช้งานในภาคธุรกิจองค์กรส่วน Campus Networking จากนวัตกรรมหลากหลายที่ RUCKUS ได้คิดค้นขึ้นมาใช้งานภายในโซลูชันดังกล่าว ทำให้การติดตั้งใช้งานระบบเครือข่ายไร้สายสำหรับภาคธุรกิจนั้นเป็นไปได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพ
ABI Research ยกย่อง RUCKUS ในฐานะผู้นำด้าน WLAN for Campus Area Networks

ในรายงานฉบับนี้ ทาง RUCKUS ได้ติดโผเป็นหนึ่งใน 4 ผู้นำด้าน WLAN for Campus Area Networks จากการประเมินศักยภาพของผู้ผลิตด้วยกันทั้งหมด 14 ราย โดย RUCKUS นั้นได้ครองตำแหน่ง Leader ด้วยคะแนนรวม 78.6 ตำแหน่ง Top Innovator ด้วยคะแนน 75.4 และ ตำแหน่ง Top Implementor ด้วยคะแนน 81.7
เนื้อหาในรายงานได้กล่าวถึงนวัตกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่หลากหลายของ RUCKUS ซึ่งมุ่งเน้นไปทางฝั่งของ IT Infrastructure และ Network Management เป็นหลัก ทำให้การติดตั้งใช้งานจริงและการดูแลรักษาระบบเครือข่ายไร้สายนั้นมีประสิทธิภาพและเรียบง่าย ในขณะเดียวกัน การรองรับ Wi-Fi 7 สำหรับตลาดธุรกิจองค์กรเป็นรายแรกของโลก และการมี RUCKUS AI ซึ่งมาพร้อมกับความสามารถด้าน AIOps ที่หลากหลาย ส่งผลให้ RUCKUS ได้ครองตำแหน่งดังกล่าว
ในแง่มุมของ Managed Service Provider หรือ MSP เองนั้นก็มีประเด็นที่น่าสนใจ โดยในรายงานระบุว่าการที่ RUCKUS สามารถรองรับการให้บริการในแบบ MSP และ Network-as-a-Service หรือ NaaS ได้อย่างง่ายดาย จากการรองรับการบริหารจัดการอุปกรณ์สูงสุดถึง 500,000 ชุดในแบบ Multi-tenant ได้ ก็ช่วยให้เหล่าผู้ให้บริการ MSP สามารถเติบโตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งการมีระบบ AIOps ที่สามารถลดการแก้ไขปัญหาในการใช้งานลงได้มากถึง 40% ก็ยิ่งช่วยให้การส่งมอบประสบการณ์การใช้งานระบบเครือข่ายไร้สายนั้น เป็นไปได้ง่ายดายยิ่งกว่าที่เคย
นอกเหนือจากนี้ ในรายงานยังระบุด้วยว่า นวัตกรรมต่างๆ ที่หลากหลายของ RUCKUS นั้นช่วยให้ TCO หรือค่าใช้จ่ายโดยรวมในการเป็นเจ้าของระบบนั้นลดต่ำลงเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี BeamFlex ที่ช่วยให้การออกแบบจุดติดตั้งอุปกรณ์ Access Point นั้นสามารถใช้จำนวนอุปกรณ์น้อยกว่าผู้ผลิตรายอื่นๆ แต่ยังคงมีพื้นที่ครอบคลุมการใช้งานที่เท่ากัน, การใช้ AI RRM ร่วมกับ ChannelFly ที่ช่วยเพิ่มความเร็วในการเชื่อมต่อให้กับผู้ใช้งานได้, การใช้ RUCKUS AI ช่วยประหยัดเวลาการดูแลรักษาระบบเครือข่าย ไปจนถึงระบบ Campus Switch ที่สามารถเพิ่มขยายได้แบบ Stackable ที่ช่วยให้การลงทุนเป็นไปได้อย่างคุ้มค่าและเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น
ข้อดีทั้งหมดนี้ทำให้ RUCKUS กลายเป็นโซลูชัน Wireless LAN Networking ที่ใช้งานได้ง่าย มีประสิทธิภาพสูง และสามารถดูแลรักษาได้อย่างสะดวก ทำให้ได้รับคะแนนด้าน Innovation และ Implement ที่สูงในรายงานฉบับนี้ จนก้าวสู่การเป็นหนึ่งใน Leader ในตลาด WLAN for Campus Area Networks ได้นั่นเอง
ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกกันถึง 7 นวัตกรรมของ RUCKUS ที่ถูกกล่าวถึงในรายงานฉบับนี้ จนได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้นำด้าน Enterprise Wi-Fi กันครับ
1. Enterprise Wi-Fi 7 Access Point

Credit: RUCKUS
RUCKUS นั้นเป็นผู้ผลิตรายแรกที่เปิดตัว Enterprise Wi-Fi 7 Access Point ออกสู่ตลาดตั้งแต่ปี 2023 ที่ผ่านมาภายใต้รุ่น RUCKUS R770 Wi-Fi 7 Access Point ที่ใช้มาตรฐาน IEEE 802.11be
RUCKUS R770 Wi-Fi 7 Access Point นี้มาพร้อมกับเสาสัญญาณ Wi-Fi 7 แบบ Tri-Radio บนย่านความถี่ 2.4/5/6GHz โดยมีความเร็วในการรับส่งสัญญาณผ่านระบบเครือข่ายไร้สายสูงสุดถึง 12.22Gbps และยังรองรับความสามารถในการทำงานร่วมกับอุปกรณ์ IoT ได้ภายในตัว พร้อมความสามารถด้าน Cybersecurity อีกมากมาย
การรองรับ Wi-Fi 7 ก่อนคู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาดนี้ ทำให้ RUCKUS ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากภาคธุรกิจองค์กรที่ต้องการอัปเกรดระบบเครือข่ายไร้สายจาก Wi-Fi 6 หรือมาตรฐานก่อนหน้า เพราะ Wi-Fi 7 นี้กำลังจะกลายเป็นมาตรฐานหลักต่อไปอีก 2-3 ปีนับถัดจากนี้เลยทีเดียว
2. BeamFlex/BeamFlex+

Credit: RUCKUS
BeamFlex คือหนึ่งในนวัตกรรมหลักที่สร้างชื่อเสียงและความโดดเด่นให้กับ RUCKUS มาอย่างยาวนาน ในฐานะของ Adaptive Antenna Technology หรือเสาส่งสัญญาณที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบและทิศทางในการส่งสัญญาณให้เหมาะสมกับตำแหน่งของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อได้อย่างชาญฉลาดมากกว่า 4,200 รูปแบบ ช่วยให้ Access Point ของ RUCKUS สามารถรับส่งสัญญาณไปยังแต่ละอุปกรณ์ได้ด้วยสัญญาณที่มีคุณภาพและมีความแรงสูง
ทาง RUCKUS นั้นได้พัฒนาเทคโนโลยี BeamFlex อย่างต่อเนื่องจนกลายเป็น BeamFlex+ ที่สามารถใช้งานกับมาตรฐาน Wi-Fi รุ่นใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึง Wi-Fi 7 ด้วย
ที่ผ่านมา เทคโนโลยี BeamFlex และ BeamFlex+ นี้ ได้ช่วยให้การออกแบบระบบ Wi-Fi ด้วย RUCKUS นั้นสามารถใช้จำนวน Access Point ที่น้อยลงแต่ยังคงครอบคลุมพื้นที่การใช้งานได้อย่างทั่วถึงเทียบเท่ากันเมื่อเทียบกับโซลูชันจากผู้ผลิตรายอื่นๆ รวมถึงบางกรณีในพื้นที่ที่เป็นจุดอับสัญญาณของโซลูชันอื่นๆ นั้น RUCKUS Access Point ก็ยังสามารถรับส่งสัญญาณได้ตามปกติ
ด้วยเหตุนี้เอง สำหรับธุรกิจองค์กรที่สนใจใช้งานโซลูชัน Wi-Fi จาก RUCKUS นั้น ก็อาจต้องทดลองทำ Wireless Site Survey ด้วยอุปกรณ์จาก RUCKUS ก่อนตัดสินใจ เพื่ออาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการออกแบบระบบเครือข่ายไร้สายที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากขึ้น
3. ChannelFly

Credit: RUCKUS
ChannelFly ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ทำให้การรับส่งสัญญาณเครือข่ายไร้สายของ RUCKUS นั้นมีคุณภาพที่เหนือชั้น ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีต่อยอดจาก BeamFlex ในการเรียนรู้ถึงคุณภาพของ RF Channel และสัญญาณรบกวนในแต่ละพื้นที่แบบ Real-Time และทำการเลือกช่องสัญญาณที่มีคุณภาพดีที่สุดในการใช้งานอยู่เสมอ ช่วยให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงขึ้นกว่าปกติ 25-50%
4. AI-Driven Cloud Radio Resource Management (RRM)

Credit: RUCKUS
เมื่อ Wi-Fi ได้กลายเป็นช่องทางหลักในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ จนทำให้ทุกวันนี้ในแต่ละพื้นที่นั้นล้วนมีสัญญาณจาก Access Point จำนวนมากที่รบกวนกัน ทาง RUCKUS จึงได้พัฒนาระบบ AI RRM ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์นี้สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่หรือ Service Provider ที่ต้องการใช้งาน Access Point ของตนเองเป็นจำนวนมากในพื้นที่กว้าง
AI RRM นั้นจะได้การผสมผสานระหวา่งการบริหารจัดการระบบเครือข่ายแบบมีสายและไร้สายร่วมกัน เพื่อบริหารจัดการการเลือกช่องสัญญาณในระบบเครือข่ายขนาดใหญ่โดยอัตโนมัติด้วยพลังประมวลผลจาก AI บน Cloud เพื่อให้ทุกการเชื่อมต่อมีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่เสมอ
ความสามารถนี้เป็นส่วนหนึ่งของ RUCKUS AI ระบบ AI สำหรับการทำ Service Assurance และ Business Intelligence สำหรับระบบเครือข่ายของ RUCKUS โดยเฉพาะ
5. AppInsights

Credit: RUCKUS
อีกหนึ่งความสามารถเด่นภายใต้ RUCKUS AI นั้นก็คือ AppInsights ซึ่งเป็น AI สำหรับการจัดการ Quality of Experience หรือคุณภาพของประสบการณ์ในการใช้งานระบบเครือข่ายนั่นเอง
RUCKUS นั้นจะทำการรวบรวมข้อมูลการเชื่อมต่อใช้งาน Application ของผู้ใช้งานแต่ละคน เพื่อนำมาวิเคราะห์ให้คะแนน Quality of Experience สำหรับผู้ดูแลระบบเครือข่ายในการติดตามบริหารจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานโดยเฉพาะ ช่วยยกระดับการตรวจสอบติดตามแก้ไขปัญหาบนระบบเครือข่ายขึ้นไปอีกขั้น
ทั้งนี้ถ้าหาก AI ตรวจพบประสบการณ์การใช้งานที่ไม่ดีหรือปัญหาที่ไม่คาดฝัน ระบบจะทำการแจ้งเตือนมายังผู้ดูแลระบบเครือข่าย พร้อมแนะนำขั้นตอนในการตรวจสอบแก้ไขปัญหาเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงประสบการณ์ในการเชื่อมต่อเครือข่ายที่ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
6. OpenRoaming
OpenRoaming คือมาตรฐานเปิดของอุตสาหกรรมเพื่อให้ผู้ใช้งานระบบ Wi-Fi สามารถทำการ Roaming ข้ามเครือข่าย Wi-Fi กันได้โดยอัตโนมัติและมั่นคงปลอดภัย คล้ายคลึงกับการทำ Roaming บน Cellular Network
การให้บริการด้านการ Roaming นี้จะถูกจัดการบน Global Roaming Network ที่เป็นกลางซึ่งบริหารโดย Wireless Broadband Alliance (WBA) ซึ่งผู้ใช้งานนั้นจะสามารถทำการ Roaming ระหว่าง Wi-Fi ของผู้ให้บริการต่างรายได้โดยไม่ต้องมีการ Login ใหม่ ในขณะที่ยังคงมีความมั่นคงปลอดภัยในการเชื่อมต่อเครือข่าย ช่วยให้ประสบการณ์การใช้งานนั้นดีขึ้นยิ่งกว่าเดิม และมีพื้นที่ครอบคลุมในการเชื่อมต่อใช้งาน Wi-Fi มากกว่าเดิม
OpenRoaming นี้เป็นมาตรฐานที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากเหล่าผู้ให้บริการโครงข่ายและ Internet Service Provider ทั่วโลก เนื่องจากเป็นแนวทางใหม่ที่ผู้ให้บริการแต่ละรายจะสามารถแบ่งปันอุปกรณ์ Access Point ที่ยังมีทรัพยากรเหลือในการให้บริการ Wi-Fi เพิ่มเติมได้นั่นเอง
7. NaaS – Network-as-a-Service
Network-as-a-Service หรือ NaaS ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์ใหญ่ด้านระบบเครือข่ายที่มีการพูดถึงกันมาได้ระยะหนึ่งแล้ว และ RUCKUS ก็มีบริการ NaaS ของตนเองเพื่อให้ธุรกิจองค์กรสามารถเช่าใช้งานอุปกรณ์เครือข่ายและระบบบริหารจัดการผ่าน Cloud หรือ AI ได้โดยคิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริงแบบรายเดือน พร้อมบริการจากทีมงานของ RUCKUS และเหล่าพันธมิตรทางธุรกิจอีกด้วย
สำหรับธุรกิจ IT ไทยที่ต้องการจะนำโมเดล Managed Service Provider หรือ MSP มาใช้ ทาง RUCKUS นั้นรองรับการบริหารจัดการเครือข่ายในแบบ Multi-Tenant ได้อยู่แล้วด้วย SmartZone Controller Platform ซึ่งจะช่วยให้ MSP แต่ละรายสามารถบริหารจัดการ Access Point ได้มากถึง 500,000 ชุด และแบ่งสรรอุปกรณ์เหล่านั้นสำหรับลูกค้าแต่ละรายแยกขาดจากกันได้ตามต้องการ
ส่วนในแง่มุมของธุรกิจองค์กร การเลือกใช้ NaaS จะช่วยให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นเป็นอย่างมากในการเพิ่มขยายหรือลดจำนวนอุปกรณ์เครือข่ายที่ต้องการใช้งาน อีกทั้งยังไม่ต้องคอยพะวงกับการตรวจสอบแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง หรือการต่ออายุ License หรือ MA อุปกรณ์อีกต่อไป ทำให้ทั่วโลกนั้นเทรนด์ของ NaaS กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
ที่มา: techtalkthai.com
Comments